สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ยื่น 11 ข้อเสนอ ให้ รมว.แรงงาน แก้ปัญหาลูกจ้าง เร่งแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ร่วมแก้ยาเสพติด แนะใช้ชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง แรงงานต่างด้าวต้องควบคุมได้ ไร้ผู้มีอิทธิพลในขบวนการแรงงาน
พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมประชุมพร้อมรับข้อเสนอด้านแรงงาน จากนายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทยพร้อมคณะกรรมการสภาฯ ณ ห้องประชุม ศ นิคม ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน โดยข้อเสนอ 11 ข้อ ได้เรียกร้องให้ภาครัฐดำเนินการเพื่อการแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน อาทิ การส่งเสริมการจัดตั้งสหภาพแรงงานในสถานประกอบการ ส่งเสริมให้มีมาตรการป้องกันการเลิกจ้าง ป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด ให้ความรู้ด้านแรงงานต่อภาคประชาชน นักเรียน/นักศึกษาอย่างทั่วถึง ลดอุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน ส่งเสริมการจัดกิจกรรมแรงงานสัมพันธ์ ส่งเสริมด้านพัฒนาฝีมือแรงงาน ขอให้มีการปรับแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ขอให้รณรงค์ให้ลูกจ้างใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อแก้ปัญหาการเป็นหนี้สินควรให้ความรู้การใช้จ่ายบัญชีครัวเรือน ขอให้รณรงค์และป้องกันการใช้แรงงานเด็กในสถานประกอบการ และให้ตรวจสอบอย่างเข้มข้นเพื่อให้ประเทศไทยหลุดออกจากการขึ้นบัญชีเทียร์ 3 โดยเร็ว และขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐในการจัดกิจกรรมด้านแรงงานสัมพันธ์ภาคประชาชนระหว่างผู้ประกอบการ สหภาพแรงงานและชุมชนใกล้เคียง
นอกจากนี้ ผู้แทนคณะกรรมการสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ได้แสดงความคิดเห็นและสะท้อนปัญหาสังคมในภาคแรงงานเพื่อให้ชีวิตลูกจ้างมีความมั่นคงในหลายประเด็น โดยเฉพาะการปรับแก้กฎหมายคุ้มครอง การพิจารณาคุ้มครองลูกจ้างรับเหมาค่าแรง/ซัพคอนแทรค การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ การเข้าตรวจการใช้สารเสพติดในโรงงานอย่างต่อเนื่อง ด้านประกันสังคมให้มีการรักษาที่มีคุณภาพ ขอให้ดูแลรักษาตามการเจ็บป่วยจริง การตรวจสอบการขึ้นทะเบียนของแรงงานต่างด้าวที่ให้ข้อมูลไม่จริง ขณะเดียวกันการดูแลคุ้มครองแรงงานต่างด้าวควรเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเช่นกัน
รมว.แรงงาน เปิดเผยเพิ่มเติมว่า กระทรวงแรงงานจะได้วางระบบการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวโดยพิจารณาว่ามีความต้องจากผู้ประกอบการจำนวนเท่าใด และเป็นจำนวนที่ฝ่ายความมั่นคงควบคุมได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม ไม่ใช่เปิดเสรีจนไม่มีขีดจำกัด กลายเป็นแรงงานต่างชาติมีมาก มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนไทยจนเจ้าของประเทศไม่อยากอยู่ ขณะนี้กระทรวงแรงงาน ได้ประสานกับทางฝ่ายทหารและตำรวจเพื่อขอให้ช่วยสนับสนุนกำลังพลช่วยสกัดกั้นไม่ให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้ามาตามแนวตะเข็บชายแดน ไม่ให้เข้ามาเพิ่มเติมจำนวนขึ้นอีก ที่หลบหนีผิดกฎหมายเข้ามาต้องผลักดันออกไป สำหรับในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีการผ่อนผันตามเงื่อนไขที่กำหนด ให้อยู่ในพื้นที่ควบคุมเท่านั้น นอกจากนี้ได้มีการขอกำลังทหารสนับสนุนเพื่อร่วมตรวจการใช้แรงงานต่างด้าวทั้ง 77 จังหวัดตามคำสั่ง คสช.ที่ 100 และ101 และขอให้ร่วมตรวจการใช้แรงงานในงานประมงทะเล 22 จังหวัดติดชายฝั่งทะเล รวมถึงได้ขอให้ช่วยตรวจสอบแกนนำแรงงานหรือผู้นำสหภาพแรงงานที่มีพฤติกรรมเป็นภัยสังคม ประพฤติตนเป็นผู้มีอิทธิพล ขู่กรรโชกทรัพย์ในขบวนการแรงงานด้วย “ต่อไปการทำงานของข้าราชการต้องเดินหน้าเข้าหาประชาชน และต้องสื่อสารพูดคุยกับประชาชนให้รู้เรื่อง เข้าใจง่าย” รมว.แรงงาน กล่าว
************************************
กระทรวงแรงงาน “บริการด้วยใจ เพื่อคนไทยมีงานทำ”
กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ /
พุทธชาติ อินทร์สวา-ข่าว /
สุนิสา กล่ำฟอง-ภาพ /
30 มกราคม 2558