ก.แรงงาน เร่งพัฒนาแรงงานไทย นำร่องชิ้นส่วนยานยนต์และท่องเที่ยว ต่อยอดสร้างอาชีพไกด์ ป.ตรีว่างงาน มองอนาคต ส่งเสริมลงทุนภาคผลิตด้วยเทคโนฯ ยกแรงงานไทยแรงงานคุณภาพมีฝีมือ ไม่กังวลได้ค่าจ้างตามความต้องการตลาด
Preview
Download Images
พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเสวนาเรื่อง “การเตรียมความพร้อมด้านการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศไทย : Executive Forum” ว่า พลเอกประยุกต์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงในด้านการพัฒนาแรงงานให้มีฝีมือ มีทักษะการทำงาน ให้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องรู้เป้าหมายว่าขณะนี้ประเทศไทยต้องการพัฒนาอะไรบ้าง แล้วจะต้องพัฒนาอย่างไร และใครที่จะเป็นคนทำ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ พบปัญหาว่าบางงานไม่รู้ว่าจะพัฒนาอย่างไร การประชุมเสวนาครั้งนี้มีผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตจากหลายภาคอุตสาหกรรม อาทิ ภาคยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยนต์ ก่อสร้าง การคมนาคมขนส่ง-โลจิสติกส์ การท่องเที่ยวและบริการ เป็นต้น มาช่วยกันคิด และมาช่วยกำหนดแนวทางที่จะใช้เดินไปในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเราเป็นผู้นำในภูมิภาคและมีความต้องการแรงงานที่มีฝีมือด้านช่างเทคนิคเป็นจำนวนมาก
“ต่อไปนโยบายจะส่งเสริมการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิต จะลดการใช้แรงงานไร้ฝีมือในอนาคต และคนไทยจะต้องได้รับการยกระดับฝีมือ ต้องทำให้คนไทยเราเป็นกำลังแรงงานที่มีฝีมือ เพราะงานไร้ฝีมือนั้นมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทดแทนแล้ว”
สำหรับคนที่จบปริญญาตรี ไม่มีงานทำ เนื่องจากจบไม่ตรงกับตำแหน่งงานที่ตลาดต้องการ เป็นกลุ่มที่ขณะนี้รัฐบาลกำลังหาวิธีช่วยเหลืออยู่ ซึ่งอาจให้เรียนเพิ่มเป็นการต่อยอดสร้างสาขาอาชีพให้ หรืออาจกำหนดแนวทางยกระดับการฝึกด้านภาษาโดยเฉพาะภาษาเกาหลี จีน และรัสเซีย เพื่อเข้าสู่อาชีพมัคคุเทศก์หรือไกด์ และบุคลากรในธุรกิจภาคการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งมีความขาดแคลนอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้การเป็นไกด์เป็นอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทย ซึ่งจะส่งเสริมทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวมีคุณภาพ เกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่น และคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง เพราะไกด์เป็นคนไทยที่มีความรู้จริง ให้ข้อมูลได้ถูกต้องต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติ
นอกจากนี้ เพื่อการเตรียมความพร้อมที่จะเปิดประเทศเข้าสู่ AC ซึ่งประเทศไทยอาจจะมีค่าจ้างที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ถ้าหากกำลังแรงงานไทยมีคุณภาพ เป็นแรงงานมีฝีมือ ตอบสนองตลาดแรงงานได้ก็จะไม่ใช่ปัญหา ไม่ต้องกังวล ได้ค่าจ้างตามคุณภาพงาน แต่เราจะอยู่แบบเดิมๆไม่ได้ ต้องมีการพัฒนา ต่อไปนี้เราต้องช่วยกันรณรงค์การพัฒนาฝีมือให้แรงงานคนไทยมีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น