Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

แถลง 6 เดือน รมว.แรงงาน ชี้ คนไทยได้งานกว่า 2 แสนคน รุกหางานให้กลุ่มนอกระบบ พิการ พื้นที่สูงเพิ่ม

pll_content_description

  ‘รัฐมนตรีแรงงาน’ แถลงผลงาน 6 เดือน แบ่งงาน 6 กลุ่ม ชูผลสำเร็จบรรจุงานคนไทยกว่า 2 แสนคน เดินหน้าดูแลแรงงานนอกระบบ 25 ล้านคน ผู้พิการ 1.6 ล้านคน คนพื้นที่สูง 20 จังหวัดได้มีงานทำ บริหารต่างด้าวสู่การตรวจสัญชาติ ย้ำหลักคิดต่างด้าวเป็นสิ่งจำเป็น ให้พอเพียงกับธุรกิจ พอเหมาะกับความมั่นคง พอดีกับวิถีชีวิตคนไทย คุ้มครองแรงงานทั้งไทยและต่างด้าว พบนายจ้าง ลูกจ้าง ยุติข้อพิพาทในโรงงานก่อนขึ้นศาล  เผยบริหารกองทุนประกันสังคม 1.5 ล้านล้านบาทให้โปร่งใส (งานท้าทาย) เพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน เตรียมคลอด พ.ร.บ.ประกันสังคม ออก กม.ลูก 17 ฉ. ให้แล้วเสร็จ 120 วัน ด้านแก้ค้ามนุษย์ ชี้ทำงาน 3 ส่วน นำนโยบาย ออกกฎหมาย สู่การปฏิบัติ บูรณาการร่วมแก้ทำประมงผิด กม. พร้อมออกใบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงาน รองรับอาเซียน นำสู่มาตรฐานสากล




Preview

Download Images

          พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงผลงานรอบ 6 เดือน ของกระทรวงแรงงาน ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน ว่า ผลงานกลุ่มแรก คือ การหางานให้คนไทยทำโดยตั้งเป้าหมายให้คนไทยทุกคนต้องมีงานทำ ตั้งแต่นักเรียน นักศึกษาจบใหม่ ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนงาน ผู้พ้นโทษ ทหารที่ปลดประจำการมาแล้ว โดยได้จัดตั้งศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทยเพื่อให้เป็นศูนย์กลางให้กลุ่มคนเหล่านี้มาติดต่อได้ง่ายขึ้น โดยทาสีตึกให้เป็นแลนมาร์คเพื่อให้คนจดจำง่าย เมื่อได้รับการสนับสนุนและเป็นที่นิยมของประชาชน ก็ได้ขยายไปทั่วประเทศ ณ วันนี้ได้ขยายเพื่อให้ครอบคลุมผ่านเครือข่ายศูนย์บริการจัดหางานทางอินเทอร์เน็ตได้ แต่ผู้ที่ไม่สะดวกก็สามารถมาพบเจ้าหน้าที่เราก็ขยายศูนย์ฯ ไปทั่วประเทศโดยยึด 18 กลุ่มจังหวัดเป็นหลัก ซึ่งทำตามลำดับความเร่งด่วน ได้เปิดศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทยที่หาดใหญ่ เพื่อเป็นศูนย์กลางในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากประชาชนได้รับผลกระทบมาก นอกจากนั้นได้เปิดศูนย์ฯ ที่ จ.นครราชสีมา ในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ และจะทยอยเปิดอีกหลายศูนย์ฯ โดยจะมีเครือข่ายของศูนย์ฯ ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ทั่วประเทศ ซึ่งสามารถนำคนเข้าสู่การทำงานได้ราว 2 – 2.5 แสนคน สร้างเงินรายได้ให้ประเทศเป็นจำนวนมาก จัดส่งคนไปทำงานต่างประเทศ 45,000 คน 
           ส่วนกลุ่มคนที่เป็นคนไทยซึ่งเราจำเป็นต้องดูแลให้มากขึ้นกว่าเดิมในช่วง 6 เดือนจากนี้ คือ กลุ่มแรกเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ว่าเราจะสร้างหลักประกันในชีวิตให้เขาได้อย่างไร สร้างความยั่งยืนในการทำงานให้เขาได้อย่างไร ปัจจุบันได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานและสนับสนุนเครือข่ายแรงงานนอกระบบใน 77 จังหวัด สำหรับแนวคิดของกระทรวงแรงงานในการทำงานด้านแรงงานนอกระบบ คือ ประชาชนต้องเข้มแข็ง โดยรัฐบาลจะเข้าไปสนับสนุน เพราะการทำงานที่ผ่านมาเมื่อราชการเข้าไปทำฝ่ายเดียวจะไม่สำเร็จ เนื่องจากประชาชนไม่พร้อมที่จะไปกับราชการ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีนโยบายว่า ให้ภาคประชาชนมีความพร้อม โดยรัฐเข้าไปสนับสนุนให้เขาเดินหน้าได้ กลุ่มที่สองเป็นผู้พิการ เนื่องจากวันนี้เรามีผู้พิการอยู่ 1.6 ล้านคน อยู่ในกำลังแรงงานประมาณ 7 แสนคน และอยู่ในช่วงอายุ 16 – 50 ปีที่มีงานทำ 2 แสนกว่าคน ที่เหลือ 3 – 4 แสนคนยังไม่มีงานทำ ดังนั้นถ้ากระทรวงแรงงานไม่ทำอย่างหนึ่งอย่างใด กลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นภาระของประเทศ เป็นภาระของสังคม กระทรวงแรงงานจึงมีแนวคิดว่า เรากำลังจะเปลี่ยนภาระให้มาเป็นพลังของสังคม อีกกลุ่มหนึ่งเป็นบุคคลพื้นที่สูงใน 20 จังหวัดที่อยู่ในประเทศไทยมานาน หลายคนไม่ได้มีสถานภาพเป็นคนไทย แต่เขามีความสามารถและยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการทำงานได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และเป็นพระราชดำริของสมเด็จพระเทพฯ ที่จะให้กระทรวงแรงงานเข้าไปดูแลคนเหล่านี้ ซึ่งกรมการจัดหางานกำลังดำเนินการศึกษาและหางานที่เหมาะสม เพื่อให้เขาเกิดความพึงพอใจ เนื่องจากเขาไม่ต้องการออกจากพื้นที่ไปไกล ไม่ต้องการเข้ามาทำงานในเมือง
            รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า ส่วนการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว เริ่มตั้งแต่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ และได้ให้ความสำคัญเนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก และภาคธุรกิจที่จำเป็นต้องใช้แรงงาน ซึ่งเราได้ดำเนินการเปิดให้แรงงานต่างด้าวมาลงทะเบียนกว่า 1.6 ล้านคน ปัจจุบันมาตรวจสัญชาติเพื่ออนุญาตให้ทำงาน 3 แสนคน ส่วนที่เหลืออีกล้านคนเศษขณะที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการมายื่นเปลี่ยนบัตรใหม่ภายใน 3 เดือนเพื่ออนุญาตให้ทำงานในราชอาณาจักรได้อีก 1 ปี สำหรับหลักคิดเรื่องแรงงานต่างด้าวนั้น กระทรวงแรงงานได้ตั้งสมมติฐานว่า ในภาวะการณ์ปัจจุบัน แรงงานต่างด้าวเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับประเทศไทย แต่ควรมีภายใต้กติกาที่เรากำหนด มีจำนวนที่พอเพียงต่อการทำงานของภาคธุรกิจ เหมาะสมกับฝ่ายความมั่นคงที่สามารถควบคุมดูแลได้ สังคมไทยยอมรับและไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนไทย 
            ด้านการคุ้มครองแรงงานทั้งคนไทยและแรงงานต่างด้าวตามที่กฎหมายกำหนด โดยจะต้องทำให้สถานประกอบการมีความปลอดภัย ทำให้เขาไม่บาดเจ็บจากการทำงาน ได้กำหนดให้ปี 2558 เป็นปีแห่งการรณรงค์สร้างจิตสำนึกความปลอดภัยในการทำงาน กระทรวงแรงงาน ได้จัด”โครงการสถานประกอบการปลอดภัยเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” มีสถานประกอบการเข้าร่วม 7 พันกว่าแห่ง ในเรื่องการคุ้มครองสิทธิลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้างหรือเมื่อออกจากงาน ในปีนี้ได้เน้นย้ำในเรื่องการเจรจาไปสู่ทวิภาคี เพื่อให้เหตุการณ์ขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่เกิดขึ้นจบได้ที่โรงงาน ไม่นำไปสู่การพิพาทที่ศาลแรงงาน ทำโครงการลูกจ้าง นายจ้าง เอื้ออาทร ร่วมแบ่งปัน สร้างสรรค์สังคมไทย เพื่อชี้ให้เห็นว่านายจ้างกับลูกจ้างต้องอยู่ร่วมกันการส่งเสริมการให้ความรู้เรื่องแนวทางปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี GLP เพื่อให้เข้าสู่การทำงานที่เป็นมาตรฐาน
            ด้านการประกันสังคม ปัจจุบันมีเงินกองทุน 1.5 ล้านล้านบาทและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากกองทุนมีการพัฒนาตัวเองขึ้นมา แต่ในอนาคตเมื่อเข้าสู่สังคมสูงอายุ เงินอาจจะมีการเริ่มลดลง จุดนี้ถือเป็นความยากและท้าทายของงานประกันสังคม แต่กระทรวงแรงงานก็พยายามให้กองทุนประกันสังคมบริหารงานอย่างโปร่งใส เปิดเผย ตรวจสอบได้ ตรงนี้ถือเป็นส่วนสำคัญในการทำงานร่วมกันระหว่างส่วนราชการกับสื่อมวลชนและภาคประชาสังคม อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีให้ข้อสั่งการว่า อะไรที่เข้าไปลิดรอนสิทธิประชาชนภาครัฐจะไม่ทำ อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมที่ออกมาก็ไม่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องมีการตรวจสอบจากผู้ประกันตนและแก้ไขกันต่อไป วันนี้ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนมากมาย ประเด็นสำคัญคือ เมื่อ พ.ร.บ.ดังกล่าวออกแล้ว จะมีกฎหมายลูกอีก 17 ฉบับซึ่งจะต้องวางกรอบในการทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน 
           รัฐมนตรีว่ากระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การสนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ หลังจากที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เตือนไทยตั้งแต่ปี 2553 รัฐบาลก็ได้ดำเนินการมาโดยตลอด เพียงแต่ยังไม่เข้าสู่มาตรการที่กำหนด สำหรับการทำงาน 3 ส่วน ด้านนโยบายนายกรัฐมนตรีได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งกรรมการระดับชาติโดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ตั้งอนุกรรมการ 5 อนุฯ ด้านกฎหมายโดยการออกกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมง และออกกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานเกษตรกรรม ซึ่งประกาศใช้ไปแล้วเมื่อธันวาคม 2557 ซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานสากล ด้านการปฏิบัติเราจะใช้ความพยายามในการทำงานขึ้นไปสู่เป้าหมายสากล ไม่ได้หยุดแค่การรายงานใน Tip Report  “เราต้องบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาปฏิบัติการในแผนเดียวกัน ทำในจังหวะเวลาเดียวกัน ในห้วงเวลาเดียวกัน ด้วยมาตรฐานเดียวกัน การทำงานต้องมี 3 ส่วน คือ นโยบาย กฎหมาย และการปฏิบัติ” รมว.แรงงาน กล่าว
           การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU เนื่องจากอียูได้เตือนไทยมาตั้งแต่ปี 2554 และล่าสุดเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมาได้ให้ใบเหลืองไทยเกี่ยวกับประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม ทั้งนี้ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานได้พยายามบูรณาการการทำงาน ทำทั้งเครื่องมือจับปลาให้ถูกกฎหมาย จดทะเบียนเรือ ติดระบบติดตามเรือ Vessel Monitoring System (VMS) เป็นการยกระดับการทำประมงทะเลไทยสู่มาตรฐานสากล และนำไปสู่การปลดแก้ข้อกล่าวหาของประเทศสหรัฐจากบัญชีเทียร์ 3 แต่บางประการอาจจะติดขัดเรื่องข้อกฎหมาย ซึ่งขณะนี้กำลังปรับกฎหมาย พ.ร.บ.ประมงซึ่งอยู่ในสภาฯ กฎกระทรวงของกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงคมนาคม กำลังเร่งรัดให้เรือ 30 ตันกรอสขึ้นไปติด VMS ให้กรมประมงจัดตั้งศูนย์ติดตามเรือ ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเราไม่มีระบบดังกล่าวจึงไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล  
           และการพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อเตรียมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน วันนี้เรากำลังเข้าสู่ความเป็นสากล กระทรวงแรงงานได้ปรับปรุงกฎหมายพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ต่อไปนี้ผู้ที่ประกอบอาชีพต่อไปต้องได้มาตรฐาน การทำให้มาตรฐานฝีมือ เข้าสู่มาตรฐานสากลวันนี้เราได้เริ่มในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ โดยร่วมกับผู้ประกอบการในการพัฒนาฝีมือและมอบใบรับรองมาตรฐานฝีมือ ทั้งนี้การจ่ายค่าตอบแทนจะแปรไปตามมาตรฐานฝีมือ หากไม่มีมาตรฐานทุกคนจะทำงานไปเรื่อยๆ ไม่สามารถพัฒนาไปสู่มาตรฐานสากลได้ ผู้ใช้แรงงานต้องพัฒนาตนเองให้สูงขึ้น เพื่อได้ค่าตอบแทนสูงขึ้น ส่วนผู้ประกอบการเองโดยเฉพาะเอสเอ็มอีต้องลดต้นทุนการผลิตในกระบวนการตั้งแต่การบริหารงาน การลดการสิ้นเปลือง กระทรวงแรงงานได้เข้าไปช่วยเหลือมีสถานประกอบการเข้าร่วม 260 แห่งตามโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานตามความต้องการของสถานประกอบกิจการ 
           “วันนี้ประเทศไทยต้องการแรงงานไร้ฝีมือเข้ามาทำงานตอบสนองภาคต่างๆ แต่วันข้างหน้าเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ภาพของแรงงานเปลี่ยน เราอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน เราทำเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศเรา ภายใต้กติกาสากล” รมว.แรงงาน กล่าว
 
—————————–
กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์/
ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/
สมภพ ศีลบุตร – ภาพ/
22 เมษายน 2558
 
 
“กระทรวงแรงงาน บริการด้วยใจ เพื่อคนไทยมีงานทำ”
 

Tags:

TOP