รมว.แรงงาน ย้ำในวงสัมมนา “ทางออกประมงทะเลไทยกับปัญหาการค้ามนุษย์” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า รัฐบาลกำหนดชัดเป็นวาระแห่งชาติ ด้านแรงงานจะเข้มข้นการบังคับใช้กฎหมาย การตรวจแรงงาน เน้นการคุ้มครองสิทธิแรงงาน ไม่มีแรงงานเด็ก แรงงานทาสบนเรือประมง
ในวันนี้ (๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๘) พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ไปร่วมในการสัมมนา เรื่อง “ทางออกประมงทะเลไทยกับปัญหาการค้ามนุษย์” โดยได้กล่าวถึงนโยบายแก้ปัญหาแรงงานประมงว่า ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาค้ามนุษย์จากการที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานการค้ามนุษย์ (Trafficking Persons Report : TIP Report) จัดอันดับประเทศไทยอยู่ในระดับ ๓ ซึ่งบ่งชี้ว่าประเทศไทยมีความพยายามในการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ไม่มากเพียงพอเมื่อเทียบกับขนาดของปัญหา รวมถึงปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในทุกระดับที่เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล ตลอดจนกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นเมือง โดยทางสหภาพยุโรป หรือ EU ได้พิจารณาออกใบเตือน (ให้ใบเหลือง) ประเทศไทย เกี่ยวกับการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ที่ประเทศไทยมีความบกพร่องอยู่หลายหลายด้าน เช่น ไม่มีการดำเนินการตามกฎหมายที่เพียงพอต่อการจัดการด้านการประมงไทยที่มีสภาพซับซ้อน ไม่มีมาตรการดูแล ควบคุม และเฝ้าระวังต่อสินค้าประมงของเรือประมงไทย เป็นต้น
รัฐมนตรีฯ กล่าวต่อไปว่า การประกาศเตือนดังกล่าวเพื่อให้ประเทศไทยทบทวนนโยบาย มาตรการการจัดการกับปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและปัญหาขาดการควบคุมในการทำประมงอย่างเร่งด่วน กำหนดระยะเวลา ๖ เดือน ซึ่งหากมาตรการบริหารจัดการหรือแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่ผ่านเกณฑ์ที่สามารถยอมรับได้จากกลุ่มสหภาพยุโรป ประเทศไทยจะถูกสั่งห้ามส่งออกสินค้าทางทะเลกับกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปอันเป็นผลเสียอย่างยิ่งต่อการส่งออกสินค้าประมงทะเล ซึ่งขณะนี้การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลไทยได้แก่ การปรับปรุงกฎหมาย โดยกระทรวงแรงงานได้ประกาศใช้กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. ๒๕๕๗ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา เพื่อคุ้มครองแรงงานประมงทะเลให้เหมาะสม สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับในสากล แต่เมื่อมีกฎหมายมาแล้วต้องมีการบังคับใช้ให้มีการปฏิบัติให้ถูกต้องโดยที่ผ่านมามีการตรวจแรงงานแล้วเมื่อพบความผิดก็ได้มีการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอาทิ สมาคมประมง ผู้ประกอบการประมง และตัวแรงงานที่พยายามปฏิบัติให้ถูกต้อง ซึ่งการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ก็คือการที่ต้องมีนโยบายที่ชัดเจน มีการกำหนดกฎหมายและมีการปฏิบัติที่เข้มงวด โดยเฉพาะการตรวจแรงงานที่จริงจังและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการตรวจเพื่อคุ้มครอง ไม่ให้มีการใช้แรงงานบังคับและแรงงานเด็กอย่างเด็ดขาด
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. สุภางค์ จันทวานิช ได้กล่าวถึงการประมวลผลงานวิจัยด้านแรงงานบังคับกับการค้ามนุษย์, IUU และข้อเสนอแนะ โดยนำเสนอข้อเสนอแนะ การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ในประมงทะเล ได้แก่ ด้านการดำเนินคดีค้ามนุษย์ เช่นการดำเนินการคัดแยกแรงงานบังคับทุกคนทั้งที่เป็นแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ การเร่งดำเนินคดี ด้านการป้องกันการค้ามนุษย์ เช่น เร่งดำเนินการให้แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในอุสาหกรรมประมงทะเลได้มีสถานภาพทางกฎหมายโดยถูกต้อง และมีการจ้างงานตามกฎหมาย การกำหนดเอกสารประจำตัวที่ถูกกฎหมาย ด้านการคุ้มครองผู้เสียหาย เช่น เรื่องการไม่จ่ายค่าจ้าง ถูกทำร้ายร่างกาย จัดให้มีช่องทางการร้องเรียนที่แรงงานสามารถเข้าถึงได้