Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

ไทยร่วมประเทศเพื่อนบ้านลุ่มน้ำโขง CLMTV ‘ย้ำชัดป้องค้ามนุษย์’ ต้องดูแลแรงงานโยกย้ายถิ่น

pll_content_description

             กระทรวงแรงงาน เผย เป็นการริเริ่มครั้งแรก ! จัดประชุมความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้านลุ่มน้ำโขง  CLMTV ร่วมกันดูแลแรงงานโยกย้ายถิ่นในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ป้องกันค้ามนุษย์ เน้นปลอดภัยและถูกกฎหมาย พร้อมแลกเปลี่ยนตัวอย่างแนวปฏิบัติที่ดีของแต่ละประเทศ และเพิ่มศักยภาพแรงงาน เร่งพัฒนาฝีมือแรงงาน เวียดนามรับเป็นเจ้าภาพอีกสองปีข้างหน้า
             นางสาวพรรณี ศรียุทธศักดิ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงแรงงานได้จัดให้มีการประชุมความร่วมมือเชิงวิชาการด้านแรงงานระดับรัฐมนตรีกับประเทศเพื่อนบ้าน(CLMTV) ขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้หัวข้อ “การขยายความร่วมมือด้านแรงงานเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อการจ้างงานในกลุ่มประเทศ CLMTV” (Enhancing Labour Cooperation on Migration for Employment in CLMTV) ระหว่างวันที่ 2-4 กันยายน 2558 ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพมหานคร ประเทศเข้าร่วมการประชุมได้แก่ ประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา ไทยและเวียดนาม โดยมีกระทรวงแรงงานไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ซึ่งถือว่าเป็นการริเริ่มของประเทศไทยที่จะสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงผ่านมิติด้านแรงงาน
               การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศ CLMTV และกำหนดแนวทางความร่วมมือด้านแรงงานทั้งในด้านวิชาการต่างๆ รวมทั้งยกระดับเวทีการประชุมให้เป็นเวทีการหารือร่วมกันต่อไปในอนาคต ตลอดจนเพื่อให้เกิดความร่วมมือด้านแรงงานและมิติด้านอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง โดยการประชุมแบ่งออกเป็นสองช่วง ดังนี้ ช่วงแรก วันที่ 2 – 3 กันยายน 2558 เป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านแรงงาน โดยปลัดกระทรวงแรงงานของไทย เป็นหัวหน้าคณะฯ ,มีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน และผู้แทนจากสำนักงานสภาความั่นคงแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมเป็นคณะผู้แทนฯ รวมทั้งสิ้น 12 คน และกลุ่มประเทศ CLMV ส่งผู้แทนระดับสูงของกระทรวงแรงงานเข้าร่วมประชุม ประเทศละ 3 คน 
             ช่วงสอง วันที่ 4 กันยายน 2558 เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีแรงงานของประเทศลุ่มน้ำโขง โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย  ส่วนหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศลุ่มน้ำโขง ทั้ง 4 ประเทศ ประกอบด้วย 1) ท่าน มาม วันนาก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและการฝึกวิชาชีพ กัมพูชา 2) ท่าน นางใบคำ ขัตติยะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม สปป.ลาว 3) ท่าน เอ มิ้นท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน การจ้างงานและความมั่นคงทางสังคม เมียนมา และ 4) ท่าน นางฝ่าม ถิ ไฮ เชียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ทุพพลภาพ และสวัสดิการสังคม เวียดนาม
            สาระสำคัญจากผลการประชุมในครั้งนี้ จะเป็นแนวทางความร่วมมือด้านแรงงานในอนาคต โดยผลการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านแรงงาน สรุปได้ว่า การโยกย้ายถิ่นฐานด้านแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศทั้งประเทศผู้ส่งและรับแรงงาน แต่จำเป็นต้องส่งเสริมการโยกย้ายที่ปลอดภัย ถูกกฎหมายและมีการบังคับใช้กฎหมาอย่างเต็มที่ ต้องส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านแรงงานในด้านต่างๆ และควรจัดให้มีการประชุมอย่างต่อเนื่อง และเสนอให้แต่ละประเทศแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ประสานงานหลักด้วย 
            สำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีแรงงาน นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา    ได้กล่าวในพิธีเปิดถึงความสำคัญด้านแรงงานใน 4 ประเด็น คือ การเพิ่มศักยภาพของกำลังแรงงานในภูมิภาค การจัดส่ง-นำเข้าแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นธรรม ความร่วมมือด้านแรงงานใน ทุกมิติและความต่อเนื่องในการประชุมร่วมกันที่ต้องกำหนดเป้าหมายความสำเร็จ 
            รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล ได้กล่าวถ้อยแถลงในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนแต่ละประเทศ ว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการริเริ่มที่ดีของประเทศไทย และมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันต่อการดำเนินการในการขยายความร่วมมือด้านวิชาการด้านแรงงานในอนาคต การลงนามบันทึกความเข้าใจด้านแรงงานและข้อตกลงด้านการจ้างงานระหว่างคู่เจรจา ถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง รวมทั้งเป็นการร่วมกันป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และเห็นควรให้มีการประชุมเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีรายงานข้อสรุปของประธานการประชุม (Chairman Summary) ต่อที่ประชุมว่าความร่วมมือด้านแรงงานในกลุ่มประเทศ CLMTV ต้องมีการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง โดยการแลกเปลี่ยนตัวอย่างแนวปฏิบัติที่ดีของแต่ละประเทศ และการพัฒนาฝีมือ รวมถึงมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องในการหารือเพื่อความร่วมมือด้านแรงงาน 
             ทั้งนี้ การจัดประชุมครั้งต่อไป เวียดนามได้รับหลักการเป็นเจ้าภาพครั้งต่อไป แต่จะต้องขอนำเสนอรัฐบาลเวียดนามเพื่อให้การพิจารณารับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในอีกสองปีข้างหน้า หรือ    ปี พ.ศ.2560 ซึ่งจะได้ยืนยันให้ทราบในโอกาสแรกต่อไป
………………………………………….
 
ข้อมูลจาก : สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ  สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน
ผลิตโดย : กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์/18กันยายน 2558

Tags:

TOP