Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

10 พฤษภาคม วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ

pll_content_description

                รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เน้นทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยในการทำงาน รู้เท่าทันถึงอันตราย และปฏิบัติตามมาตรการแนวทางความปลอดภัยที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด จริงจัง และที่สำคัญที่สุดคือ มีจิตสำนึกด้านความปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา




Preview

Download Images

           พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บรรยายพิเศษ “10 พฤษภาคม วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ”เนื่องในวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ณ อาคารกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (ส่วนแยกตลิ่งชัน) กล่าวว่า เมื่อ 23 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตา บริษัท เคเดอร์ อินดัสเตรียล (ไทยแลนด์) จำกัด ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิต 188 คน และบาดเจ็บกว่า 500 คน ซึ่งจะต้องถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่จะต้องระลึก ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันอันตราย รวมถึงการดูแลสวัสดิการ สวัสดิภาพ ความปลอดภัยในการทำงานของคนทำงานในทุกอาชีพ การที่กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้จัดงาน 10 พฤษภาคม วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ที่ได้ดำเนินการจัดมาทุกปีเป็นประเพณี เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์เมื่อ 23 ปีที่ผ่านมาและได้มาร่วมกันทำกิจกรรมสร้างสรรค์ด้านความปลอดภัยในการทำงาน ซึงถือเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยสร้างความตระหนักให้รู้ถึงความสำคัญและนำได้สู่งานด้านความปลอดภัยให้เกิดกับคนทำงานในประเทศไทย
           ในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการขับเคลื่อนและดำเนินการเรื่องความปลอดภัยในหลายๆ เรื่อง ประการแรกคือ การมีนโยบายแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2550 ที่กำหนดให้แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี ซึ่งเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเกิดความร่วมมือในการดำเนินการด้านความปลอดภัยในการทำงาน ประการที่สอง การมีแผนแม่บทด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานแห่งชาติ (พ.ศ. 2554 – 2559) สำหรับดำเนินการ และประการที่สาม การมีพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวินามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ซึ่งได้มีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนงานอีก 2 หน่วยงาน คือ กองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน)
           นโยบายของรัฐบาลต้องการให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยได้มีการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มีการกำหนดวิสัยทัศน์ ไทยแลนด์ 4.0 และการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งในเรื่องของความปลอดภัยในการทำงานไม่ว่าจะเป็นงานประเภทใดย่อมถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาเข้าสู่งาน เข้าสู่การจ้างงานของทั้งในประเทศและต่างประเทศที่จะส่งคนเข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องมาพิจารณาว่าสิ่งต่างๆ ที่ได้ดำเนินการมาสามารถที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้มากน้อยเพียงใด มีผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมอะไรบ้าง ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง พนักงานมีจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัย มีจิตสาธารณะเห็นชีวิตมนุษย์มีค่ามากขึ้นหรือไม่ มีคำถามว่าเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบได้มีการทุ่มเท จริงจังในการทำงาน มีความรับผิดชอบมากน้อยเพียงใด และมีการทุจริตหรือไม่ และมีคำถามอีกว่ากฎหมายระเบียบคำสั่งมีความเหมาะสมเพียงพอ การบังคับใช้กฎหมายจริงจังมากน้อยแค่ไหน ได้มีการบูรณาการกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในรูปแบบของประชารัฐหรือไม่ และต่างประเทศจะมั่นใจได้อย่างไรว่าประเทศไทยสามารถที่จะปกป้องดูแลพลเมืองของประเทศนั้นๆ ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยให้มีความปลอดภัยได้อย่างไร ซึ่งคำถามเหล่านี้พวกเราทุกคนต้องตอบให้ได้ ส่วนบทบาทของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใย และให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยเพื่อสร้างให้ประเทศไทยเป็นบ้านเมืองที่มีความปลอดภัยตามนโยบาย Safety Thailand ในส่วนของกระทรวงแรงงานที่ต้องรับผิดชอบหางานให้คนไทยทำ มีรายได้ดี มีการฝึกอบรมพัฒนาให้เป็นคนเก่ง ให้เป็นแรงงานที่มีฝีมือดี และการคุ้มครองสวัสดิภาพความปลอดภัยในการทำงาน อีกทั้งการสูญเสียที่มีสาเหตุมากจากการประมาท การไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ กระทรวงแรงงานจะไม่ยอมให้มีอุปสรรคที่จะมาขัดขวางวงรอบของกระทรวงแรงงาน โดยจะต้องให้บุคคลเหล่านั้นไปสู่หลักประกันทางสังคมและปลอดภัยให้ได้ การดูแลสวัสดิภาพของคนทำงานถือเป็นเรื่องแรกๆ ที่ให้ความสนใจมาโดยตลอดนับจากรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีทั้งเรื่องของการตรวจ การบังคับใช้กฎหมาย และการรณรงค์ปลูกจิตสำนึกด้านความปลอดภัย โดยมีการเปิดยุทธการ 90 วันลดอันตราย ซึ่งทำให้สถิติการประสบอันตรายลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับห้วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนๆ อีกทั้งในปัจจุบันการเข้าสู่เออีซีสถิติตการประสบอันตรายที่ลดลงอาจไม่เป็นที่ยอมรับของประเทศเพื่อนบ้านและสากล จึงได้มีการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของประเทศไทยให้เป็นมาตรฐานนานาชาติ โดยได้มีการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ. 2006 (พ.ศ.2549) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา
           ในปี 2559 กระทรวงแรงงานได้กำหนดมาตรการและแนวทางการดำเนินการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมโดยตั้งเป้าหมายสูงสุดคือ ปลอดภัย 100% ในการทำงาน โดยจะมีการดำเนินงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยเพื่อให้มีมาตรฐานและเป็นไปตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 187 ซึ่งจะมีการผลักดันระเบียบวาระแห่งชาติ แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี และระยะที่สอง (พ.ศ. 2560 – 2569) มีการผลักดันแผนแม่บทด้านความปลอดภัยฯ แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 – 2564) เพื่อให้เกิดการบูรณาการงานในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเกิดความต่อเนื่องในทางปฏิบัติ  นอกจากนั้นยังต้องสร้างการรับรู้และสร้างจิตสำนึกอย่างต่อเนื่องของนายจ้าง ลูกจ้าง โดยการสร้างองค์ความรู้และสร้างกระบวนการเพื่อให้เกิดการปฏิบัติด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยเป็นนิสัยก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัยขึ้น  การใช้มาตรการเชิงรุกเพื่อการลดอัตราการประสบอันตรายจากการทำงาน โดยประสานความร่วมมือกับสถานประกอบกิจการและองค์กรที่เกี่ยวข้องภายใต้กลไกประชารัฐ เพื่อให้มีแผนงาน การควบคุม ตรวจสอบ และติดตามสอดคล้องกับหลักปฏิบัติตามกฎหมายอย่างมีความถูกต้องและเหมาะสม และจะเน้นการบังคับใช้กฎหมายความปลอดภัยฯ อย่างเคร่งครัด โดยมีการตรวจสถานประกอบกิจการที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน และตรวจเชิงรุกตามปฏิทินความเสี่ยงก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุ พร้อมเพิ่มความร่วมมือด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยระหว่างหน่วยงานเครือข่ายภายในประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับสากล ซึ่งกระทรวงแรงงานได้มีประสานความร่วมมือกับอาเซียน ประเทศสิงคโปร์ ประเทศเกาหลี และประเทศจีน โดยเฉพาะในอาเซียนประเทศไทยได้รับเกียรติมอบหมายเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย และในปีนี้กระทรวงแรงงานจะได้บูรณาการ 4 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม ในการดำเนินการโครงการ Safety Thailand เพื่อลดการสูญเสียชีวิต การบาดเจ็บ และทรัพย์สิน โดยได้กำหนดเป้าหมายให้ครอบคลุมคนทำงานทุกภาคส่วนของประเทศ ซึ่งทั้งหมดที่ได้กล่าวไปแล้วนี้ ไม่สามารถที่จะดำเนินการรุร่วงไปได้ ไม่สามารถที่จะประสบความสำเร็จได้ หากขาดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งทุกภาคส่วนต้องตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยในการทำงาน ต้องรู้เท่าทันถึงอันตราย และปฏิบัติตามมาตรการหรือแนวทางความปลอดภัยที่ได้มีกำหนดขึ้นไว้อย่างเคร่งครัด จริงจัง และที่สำคัญที่สุดคือ มีจิตสำนึกด้านความปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา รวมถึงขอชื่นชมที่หน่วยงานในความร่วมมือกับเป็นพลังในการขัดเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติ แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี และขอขอบคุณทุกท่านที่จะมาร่วมมือกันผลักดันให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน และป้องกันความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นทั้งต่อคนทำงาน ผู้ประกอบการ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
           สำหรับหน่วยงาน/องค์กรที่ได้รับใบประกาศเกียรติคุณที่ทำคุณประโยชน์ด้านความปลอดภัยในการทำงาน ประจำปี 2559 หน่วยงาน/องค์กรที่สนับสนุนการฝึกซ้อมดับเพลิงและอพยพหนีไฟประจำปีให้กับสำนักความปลอดภัยแรงงานและกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) โรงพยาบาลเจ้าพระยา สถานีดับเพลิงบางขุนนนท์ และสถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชัน, หน่วยงาน/องค์กรที่สนับสนุนเพื่อดำเนินการให้เกิดความปลอดภัยในงานก่อสร้าง โครงการก่อสร้างระบบรางขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจนจบโครงการ ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), หน่วยงาน/องค์กรที่สนับสนุนเพื่อให้มีการขับเคลื่อนด้านความปลอดภัยในสถานศึกษา กิจกรรม “สถานศึกษาปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 และปีปัจจุบัน ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมการอาชีวศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักอำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ศูนย์พัฒนา ส่งเสริม ประสานงาน กิจการนักศึกษาและกิจการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา บริษัท เอ็กเซดดี้ ฟริคชั่น แมททีเรียล จำกัด และสำนักพัฒนาความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์, หน่วยงาน/องค์กรที่สนับสนุนในกิจกรรมการสร้างจิตสำนึก การสร้างองค์ความรู้ และส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานให้แก่สังคม ชุมชน สถานศึกษา ศาสนสถาน รวมถึงสถานประกอบกิจการ ได้แก่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ส่วนคลังน้ำมันไออาร์พีซี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สมาคมความปลอดภัยในการทำงานจังหวัดระยอง บริษัท แป้งมันเอี่ยมเฮงอุตสาหกรรม จำกัด จังหวัดนครราชสีมา บริษัท อุดรกระจกรถยนต์ จำกัด จังหวัดอุดรธานี ชมรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานจังหวัดลำปาง  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คลังปิโตเลียมนครสวรรค์ กลุ่มบริษัท เครือสหวิริยา ชมรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานภาคใต้ตอนบน รายการวิทยุ “คลื่นมหาชนคนเซฟตี้” เอฟเอ็ม ๙๗ เมกกะเฮิร์ต จังหวัดสงขลา บริษัท ศูนย์บริการเหล็กสยาม จำกัด (มหาชน) จังหวัดสมุทรปราการ ชมรมเครือข่ายความปลอดภัยในการทำงานราชพฤกษ์ ชมรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานพระนคร และสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) และหน่วยงาน/องค์กรที่สนับสนุนและร่วมมือเพื่อป้องกันการประสบอันตรายจากการทำงาน/การเกิดอัคคีภัยที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้มาใช้บริการและประชาชนทั่วไปซึ่งถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดี ได้แก่ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด

 

############

 

กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
10 พฤษภาคม 2559
กัณติภณ คูสมิทธิ์ ข่าว ภาพ

Tags:

TOP