Preview
Download Images
พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวเปิดโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ 60 พรรษา : วันคล้ายวันสถาปนาศูนย์ฟื้นฟูปทุมธานี ครบ 3 ทศวรรษ และงาน 3 ทศวรรษ งานฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานไทย ณ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน จังหวัดปทุมธานี” พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทิศทางการฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานไทยในทศวรรษหน้า ว่า การดำเนินงานของศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานที่ดูแลผู้ที่บาดเจ็บจากการทำงานจะต้องให้ผู้เข้ารับการฟื้นฟูได้รับการดูแลใน 3 ด้าน ประกอบด้วยด้านการแพทย์ อาชีพ และจิตใจ การฟื้นฟูจิตใจเป็นสิ่งสำคัญ เป็นสิ่งแรกที่ต้องได้รับการฟื้นฟูก่อน ทั้งฟื้นฟูระหว่างฝึกอาชีพ และขณะไปประกอบอาชีพ เพื่อให้มีกำลังใจ ไม่รู้สึกท้อแท้ในชีวิตตั้งแต่เข้ามารับการฟื้นฟูในวันแรก ทั้งนี้ สิ่งที่เจ้าหน้าที่ต้องดูแลอย่างยิ่ง คือสภาพจิตใจของผู้ที่รับการฟื้นฟูตั้งแต่เริ่มบาดเจ็บครั้งแรกให้สามารถมีกำลังใจที่จะดำรงชีวิตอยู่ต่อไป ทำให้ลืมในเรื่องที่ต้องประสบความสูญเสีย จากนั้นสร้างกำลังใจให้สามารถฟันฝ่าการฝึกอาชีพให้ผ่านไปให้ได้และมีฝีมือเป็นที่ยอมรับ รวมถึงการให้กำลังใจที่จะกลับไปทำงานในสังคมให้ได้ อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญยิ่งก็คือเมื่อกลับไปทำงานแล้วที่ทำงานไม่เป็นเหมือนเดิม เจ้าหน้าที่ต้องเติมกำลังใจให้ผู้เข้ารับการฟื้นฟู ทำให้เขามีความเข้มแข็งสามารถเผชิญกับสิ่งรอบตัวที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมทั้งที่ทำงานและที่บ้าน หากผ่านทุกขั้นตอนนี้ไปได้เชื่อว่าผู้เข้ารับการฟื้นฟูจะสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข
“ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานเป็นสถานที่ที่ดูแลผู้ที่บาดเจ็บจากการทำงาน การทำงานที่ศูนย์ฟื้นฟูฯ สำหรับเจ้าหน้าที่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ได้ยากเกินกว่าที่จะทำได้ ชีวิตที่นี่มีแต่การให้ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ความยากของการทำงานที่ศูนย์ฟื้นฟูฯ เมื่อผู้ทำงานได้รับบาดเจ็บวินาทีแรกที่เขารู้สึกตัวว่าต้องป่วย เจ็บ ทุพพลภาพ จิตใจของเขาคงลำบาก หน้าที่ของเจ้าหน้าที่จะต้องเยียวยาจิตใจ ฟื้นฟูจิตใจให้เขาสามารถที่จะต่อสู้ดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ จากนั้นปลุกใจ ชักจูงให้เขาพยายามลุกขึ้นมาสู้ และทำอย่างไรที่จะทำให้เขามีความเชื่อมั่นที่จะกลับไปทำงานได้ ต้องสร้างกำลังใจให้เขาว่าทำงานที่ไหนก็ได้ที่เหมาะกับตัวเอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า จากการรณรงค์ความปลอดภัยในการทำงานซึ่งกระทรวงแรงงานมีความมุ่งมั่นมาโดยตลอด จากปัจจุบันสู่อนาคตกระทรวงแรงงานได้ทุ่มเท ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานให้มากที่สุด โดยสร้างจิตสำนึก ให้ความรู้ สร้างเครือข่ายให้เข้มแข็ง กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการทำงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้กำหนดเสนอนายกรัฐมนตรีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความเห็นชอบในการกำหนดเรื่องความปลอดภัยในการทำงานเป็นวาระแห่งชาติ กำหนดจะไปรับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบงานส่งเสริมความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน ค.ศ.2006 (พ.ศ.2549) ให้ความรู้แก่ลูกจ้างเป็นหลัก โดยการสร้างจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัย (Safety Mind) ของนายจ้างและผู้ประกอบการ ให้สถานประกอบการมีอุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน
นางปราณิน มุตตาหารัช เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน จังหวัดปทุมธานี เป็นหน่วยงานหนึ่งของสำนักงานประกันสังคม จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพแก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน และผู้ประกันตนทุพพลภาพให้สามารถกลับเข้าทำงานในสถานประกอบการหรือสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองได้ โดยให้บริการบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ และการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านจิตใจและสังคม ทั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จมาเปิดศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน จังหวัดปทุมธานี เป็นแห่งแรกในวันที่ 7 กรกฎาคม 2528 ปัจจุบันเปิดดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 30 ปี และได้มีการขยายการฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานให้บริการไปทั่วประเทศ ประกอบด้วย ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานประจำภาคตะวันออก (จังหวัดระยอง) ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานประจำภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดขอนแก่น) และ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานประจำภาคใต้ (จังหวัดสงขลา) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง
จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มอบเกียรติบัตรแก่ผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯ มอบโล่แก่สถานประกอบการ และมอบโล่รางวัลแก่อดีตผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯ ที่เป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิตใหม่ และได้ชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและผลการดำเนินงาน 3 ทศวรรษ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน
นายเธียร ทองลอย เจ้าพนักงานประกันสังคมชั้นกลาง ปฏิบัติหน้าที่สอนงานคอมพิวเตอร์ ช่างซ่อมปะกอบคอมพิวเตอร์ อดีตพนักงานส่งเอกสาร เล่าว่า ประสบอุบัติเหตุเมื่อปี 2542 จากการขับขี่รถจักรยานยนต์ ทำให้กระดูกสันหลังหักทับเส้นประสาท ฝ่ายบุคคลของที่ทำงานได้ช่วยติดต่อศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน จ.ปทุมธานี ให้ และที่ตัดสินใจเข้าฟื้นฟูเพราะคิดว่าอยู่บ้านจะเป็นภาระพ่อแม่ หลังจากเข้ามาที่ศูนย์ฟื้นฟูฯ ได้รับการฟื้นฟูด้านการแพทย์ ด้านจิตใจ และด้านฝึกอาชีพ ซึ่งเลือกเรียนคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ซึ่งการมาอยู่ศูนย์ฟื้นฟูฯ ทำให้เกิดการยอมรับสภาพความพิการ แต่ก่อนเข้าศูนย์ฟื้นฟูฯ ก็สู้นะแต่ยังยอมรับสภาพความพิการไม่ได้
“ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าศักยภาพของการฟื้นฟูผู้พิการเขาทำได้แค่ไหน ไม่รู้เลย กลัวเป็นภาระของครอบครัวเลยคิดฆ่าตัวตาย จนได้เจอเพื่อนที่เป็นหนักกว่าตัวเองคือหมุนได้แค่คอ ได้คุยกับเพื่อนและได้ยินเพื่อนบอกว่ายังจะสู้ต่อ ทำให้เป็นแรงใจให้คิดสู้ต่อบ้าง ตั้งแต่นั้นมาก็เริ่มศึกษาว่าจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของร่างกายอย่างไร กลับจากคุยกับเพื่อน จำได้เลยว่าบอกให้แม่ซื้อดัมเบลเพื่อมาออกกำลังกายเลย ขออย่างเดียวสำหรับผู้พิการที่เกิดจากอุบัติเหตุโดยไม่ได้คาดคิดต้องยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้ จากนั้นทุกอย่างก็จะดีขึ้น แต่ก่อนยังยอมรับไม่ได้ โอกาสต่างๆ ก็ไม่มีเข้ามา แต่เมื่อใดก็ตามที่ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เรายิ้มกับมันได้ โอกาสทุกอย่างก็พร้อมจะเข้ามา ซึ่งตอนนี้ ‘ผมไม่ได้เป็นคนพิการ ผมแค่เดินไม่ได้’”
นางเกสรา อินแก้ว นักวิชาการประกันสังคม อดีตแรงงานก่อสร้างประสบอุบัติเหตุจากไฟฟ้าแรงสูงช๊อต แขนทั้งสองข้างขาดระดับไต้ศอก ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพดีเด่น ประจำปี 2542 เล่าว่า ก่อนเกิดอุบัติเหตุไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าจะได้รับสิทธิจากประกันสังคมในเรื่องของทุพพลภาพได้มากขนาดนี้ แต่เมื่อเข้ามาที่ศูนย์ฟื้นฟูฯ ได้ฝึกอาชีพสาขาตัดเย็บเสื้อผ้า ต่อจากนั้นได้เริ่มเรียนวาดภาพและยึดเป็นอาชีพ ปัจจุบันยอมรับว่าชีวิตของตนเองเปลี่ยนมาก จากเคยคิดว่าแขนขาดเป็นปมด้อย แต่ ณ วันนี้ปรับความคิดใหม่ในแง่การคิดบวก ไม่ใช่ปมด้อยแต่ดึงขึ้นมาให้เป็นปมเด่นให้ตัวเองว่าแม้ว่าจะกลายเป็นผู้พิการแต่ก็เป็นจุดที่พลิกผันทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ถ้าไม่เป็นแบบนี้ตอนนี้อาจจะคงทำก่อสร้าง ทำไร่ ทำนา ไม่ได้มีโอกาสเหมือนทุกวันนี้
———————————–
กระทรวงแรงงาน “บริการด้วยใจ เพื่อคนไทยมีงานทำ”
วิชชุลดา บัวชัย – ข่าว/สมภพ ศีลบุตร – ภาพ/