Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

6 กระทรวง MOU เดินหน้า Safety Thailand

pll_content_description

     กระทรวงแรงงาน จับมือ 5 กระทรวงลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ของประเทศไทย (Safety Thailand) มุ่งบูรณาการความร่วมมือด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ลดอัตราการประสบอันตรายและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทำงานให้เกิดความยั่งยืน




Preview

Download Images

            พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในฐานะประธานเปิดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทย (Safety Thailand) ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กระทรวงคมนาคม  กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน  กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า ปัจจุบันสถานการณ์การประสบอันตรายจากการทำงานและที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ยังคงมีอัตราที่สูง เมื่อเปรียบเทียบกับนานาชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อเผชิญกับปัญหาดังกล่าว ขอแสดงความชื่นชมและยินดีต่อทั้ง 6 กระทรวง ที่ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในการบูรณาการขับเคลื่อนเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยที่ดีให้เกิดขึ้นกับคนทำงาน ส่งผลต่อความปลอดภัยของประชาชนในทุกภาคส่วน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของวาระการขับเคลื่อนประเทศไทย (Startup Thailand) ให้บรรลุผล
            “ความปลอดภัยในการทำงานนับเป็นเรื่องที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งท่านกล่าวเสมอว่าต้องทำให้คนทำงานเกิดความปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่จะสามารถดำเนินการได้ ฉะนั้นเรื่องดังกล่าวจึงเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล จึงหวังว่าหน่วยงานทั้ง 6 กระทรวง จะได้มีความร่วมมือระหว่างกันอย่างแข็งขัน และการดำเนินงานภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือนี้จะนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ในการลดการเกิดอุบัติเหตุ อุบัติภัย และโรคจากการทำงาน อันจะสร้างเสริมความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของคนทำงานและประชาชนให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน” พลเอก ประวิตร กล่าว
            พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้แทนของรัฐมนตรีจาก 6 กระทรวง ได้กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงมีพระราชปรารภเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานจากการเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2557 มีใจความว่า “การสร้างความปลอดภัยในสถานประกอบการ เพื่อผู้ใช้แรงงานจะไม่ต้องบาดเจ็บทุพพลภาพ”  จากพระราชปรารภดังกล่าว ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง อีกทั้งรัฐบาลได้มีประกาศนโยบายประชารัฐ เพื่อให้ประเทศเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทันต่อบริบทของประเทศในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโครงสร้างของสังคม วัฒนธรรม และเทคโนโลยี ประกอบกับประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย พ.ศ. 2559 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมากระทรวงแรงงานจึงริเริ่มโครงการความปลอดภัย และอาชีวอนามัยของประเทศไทย (Safety Thailand) โดยได้มีการประชุมหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในการขับเคลื่อนดำเนินงานเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยที่ดีให้เกิดขึ้นกับคนทำงานและประชาชนในทุกภาคส่วน ถือเป็นส่วนหนึ่งของวาระการขับเคลื่อนประเทศไทย (Startup Thailand) อีกด้วย
            ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความร่วมมือด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง 6 กระทรวง ในการลดการประสบอันตรายของคนทำงาน และเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ งานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทยร่วมกัน  โดยมีช่วงระยะเวลาการดำเนินการ 2 ระยะ คือ ระยะ 6 เดือน และการดำเนินงานในระยะยาวมีเป้าหมายเพื่อลดอุบัติเหตุ อุบัติภัย และโรคจากการทำงาน อันจะสร้างเสริมความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของคนทำงานให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป

 

——————————————–

 

 “OUR HOME OUR COUNTRY TOGETHER STRONGER”

“เราจะเติบโตและแข็งแกร่งไปด้วยกัน เพราะที่นี่คือ บ้านของเรา ประเทศไทยของเรา”

 

กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์/
วิชชุลดา  บัวชัย – ข่าว/
สมภพ  ศีลบุตร – ภาพ/
26 กรกฎาคม 2559

Tags:

TOP